พร้อมแนะนักสังคมสงเคราะห์ปรับตัวรับมือกับวิกฤตโลกที่ซับซ้อน เปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่ความเข้มแข็ง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วันนี้ (15 มี.ค. 65) เวลา 09.30 น. ที่ ห้องประชุม ชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานวันสังคมสงเคราะห์โลก (World Social Work Day) ประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อ (Theme) “ร่วมกันสร้างโลกใหม่ที่ยั่งยืนทางนิเวศ – สังคม : ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Co - building a New Eco Social World : Leaving No One Behind)” ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid Meeting) โดยมี H.E. Mrs. Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และ Mrs. Rose Henderson ประธานสมาพันธ์นักสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก กล่าวปาฐกถาพิเศษ ทั้งนี้ มีนายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และผู้แทนหน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ทั้งในและระหว่างประเทศ เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ มีการอภิปรายด้านวิชาการเรื่อง "การรับมือกับสภาวะวิกฤติในอนาคตในมุมมองของสหวิชาชีพ" ภายใต้หัวข้อ "ร่วมกันสร้างโลกใหม่ที่ยั่งยืนทางนิเวศ - สังคม: ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ระหว่าง นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ
นายจุติ กล่าวว่า ความหมายของคำว่า นักสังคมสงเคราะห์นั้น เป็นวิชาชีพที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมและกระตุ้นการเสริมสร้างพลังให้กับสังคม ซึ่งหลักการสังคมสงเคราะห์นั้นเป็นรากฐานของหลักสิทธิมนุษยชน ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงบริบทการทำงานโดยสิ้นเชิง จากวิกฤตโควิด - 19 วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตสังคมที่เกิดขึ้นนั้นมีความซับซ้อน ประกอบกับวิกฤตสงครามที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์นั้นถูกท้าทาย และมีความต้องการที่จะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ ผลสำเร็จที่อยากจะทำได้จากนักสังคมสงเคราะห์ทั่วโลก คือ เราต้องมีความอดทน มีความเพียร และบูรณาการร่วมกันเพื่อทำให้งานทั้งหลายเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือ การร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จะเป็นจุดเปลี่ยน เป็นพลังสำคัญ และเป็นข้อต่อสำคัญในการทำให้ภารกิจของนักสังคมสงเคราะห์บรรลุเป้าหมายได้
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นวันสังคมสงเคราะห์โลก นักสังคมสงเคราะห์ทุกคน พึงระลึกว่าหน้าที่และอุดมการณ์ยังเหมือนเดิม แต่ความท้าทายของปัญหานั้นกว้างขวางและลึกซึ้งมากกว่าเดิม วันนี้เราจะทำอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมาย
ได้ นอกจากนี้ สิ่งที่ท้าทายสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งคือ ความหลากหลายของชุมชน สังคม และวัฒนธรรม เราจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนจากความขัดแย้งไปสู่ความเข้มแข็ง นับเป็นหน้าที่ในบริบทใหม่ของนักสังคมสงเคราะห์ และหวังว่านักสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทยนั้น จะรวมพลังกันแก้ไขปัญหาสังคมต่อไป
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาพันธ์นักสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ (International Federation of Social Workers : FSW) ได้กำหนดให้วันอังคารของสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคมทุกปี เป็นวันสังคมสงเคราะห์โลก (World Social Work Day) โดยเชิญชวนให้หน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ในประเทศต่างๆ จัดกิจกรรมตามความพร้อมและความเหมาะสม ซึ่งปี 2565 ทาง IFSW ได้กำหนดจัดงานภายใต้หัวข้อ (Theme) "ร่วมกันสร้างโลกใหม่ที่ยั่งยืนทางนิเวศ - สังคม : ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Co - building a New Eco Social World : Leaving No One Behind)" เพื่อให้แต่ละประเทศได้นำไปเป็นประเด็นการถกแถลง เพื่อพัฒนาแนวทางการดำเนินงานด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม สำหรับประเทศไทย กระทรวง พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) เป็นเจ้าภาพจัดงาน ภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายด้านสังคมสงเคราะห์ของประเทศไทยและระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย - แปซิฟิก ได้แก่ IFSW สมาคมสถาบันการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ
(International Association of School Social Work : IASSW ) สภาสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ (International Councit on Social Work: ICSW) สมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาวิชาชีพสังคมสงคราะห์ สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย สมาคมสภาการศึกษาสังคม
สงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์ฝึกอบรมอาเชียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม