วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ม.ร.ว. สมลาภ กิติยากร เลขานุการในกรมหมื่นสุทธนารีนาถ


บรรยากาศ พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ  เต็มเป็นด้วยความอาลัย โดยภายในพิธี ราชสกุลต่างๆรวมถึงบุคคลสำคัญ ในวงการต่างๆมาร่วมแสดงความอาลัย ต่อการจากไปของ ของคุณชายอ้อ  ม.ร.ว.สมลาภ กิติยากร  เลขานุการในกรมหมื่นสุทธนารีนาถ ที่ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร สิริอายุได้ 72 ปี  ณ วัดเทพศิรินทราวาส  

หลังจาก ‘คุณวงเวียน ม.ล. ภัทรสุดา กิติยากร’ ธิดา ของคุณชายอ้อ  ม.ร.ว.สมลาภ กิติยากร เลขานุการในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ได้ออกมาแจ้งข่าวเศร้าว่าท่านพ่อได้จากไปแล้วเมื่อวันที่ ( 25-02-66 ) ในเวลา 20.20น. โดยก่อนหน้านี้ทาง  ม.ร.ว.สมลาภ กิติยากร ได้รักษาอาการป่วยมาได้ซักระยะนึงแล้วก่อนถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร สิริอายุได้ 72 ปี 





โดยค่ำคืนที่ผ่านมา (วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธุ์ 2566) ได้มีพิธี สวดอภิธรรม ณ ศาลา 14 วัดเทพศิรินทราวาส ทางครอบครัวได้ทำพิธีรดน้ำศพ และ พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โดยมี ราชสกุลต่างๆรวมถึงผู้หลักผู่ใหญ่ในวงการต่างๆมาร่วมแสดงความอาลัย ต่อการจากไปของ ของคุณชายอ้อ  ม.ร.ว.สมลาภ กิติยากร  โดย วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2566  เวลา 18.30 น. จะมีการสวดพระอภิธรรม และ วันที่ 6 มีนาคม 2566(งดสวด1วัน) โดยพิธีพระราชทานเพลิง วันที่ 7 มีนาคม 2566 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส  


หม่อมราชวงศ์สมลาภ กิติยากรเลขานุการใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนา รับราชการทำงานถวายเต็มกำลังความสามารถอย่างต่อเนื่องจนสิ้นอายุขัย  คุณชายเป็นบุตรของหม่อมเจ้า สมาคม กิติยากร กับ ม.ร.ว. สมัยการ กิติยากร (ราชสกุลเดิม เทวกุล) ม.จ. สมาคม กิติยากร เป็นโอรสของ มหาอำมาตย์เอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ เป็นพระอัยกาฝ่ายพระบิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชปัยกาฝ่ายพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับหม่อมจอน (สกุลเดิม วิชยาภัย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นองค์ต้นราชสกุลกิติยากร

ชีวิตส่วนตัว สมรสกับคุณนวรัตน์ กิติยากร ณ อยุธยา (โขมพัตร)  มีบุตรธิดาคือ ม.ล.ปวริศร์ กิติยากร และม.ล.ภัทรสุดา กิติยากร หม่อมราชวงศ์สมลาภ กิติยากร เลขานุการใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนา หรือที่เพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการบันเทิง เรียกกันติดปากว่า คุณชายอ้อ คุณชายใจดี เป็นที่รักใคร่นับถือ ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจ จิตใจดีงาม ชอบให้ความช่วยเหลือ และมักให้เกียรติร่วมในกิจกรรมการกุศล และงานของคนในวงการบันเทิงสม่ำเสมอ 




โดยให้เกียรติเป็นที่ปรึกษากิติมศักดิ์ของ สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย และ รับตำแหน่งประธานที่ปรึกษา สภาวัฒนธรรมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคเหนือสหรัฐอเมริกา ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยในสหรัฐอเมริกา

ททท. เปิดตัวโครงการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14

รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2566 เปิดวิสัยทัศน์สู่ยุค Low Carbon 
ททท. ยกระดับเติบโตอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน

ททท. เปิดตัวโครงการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 เพิ่มประเภทรางวัล Low Carbon & Sustainability มุ่งสู่เป้าหมาย การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำพร้อมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (High Value and Sustainability) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชิญชวนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย Thailand Tourism Awards นับเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่ง ททท. จัดประกวดอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 2 ปี และในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 14 โดยเปิดรับสมัครทั้งหมด 5 ประเภท คือ 1.แหล่งท่องเที่ยว (Attraction) 2.ที่พักนักท่องเที่ยว (Accommodation) 3.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness Tourism) 4.รายการนำเที่ยว (Tour Programmes) และ 5.การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน (Low Carbon & Sustainability) เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมตามยุทธศาสตร์ STGs (Sustainable Tourism Goals) ซึ่งรางวัลประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืนนั้น จะช่วยเพิ่มมูลค่า สร้างจุดเด่น และเพิ่มโอกาสทางการท่องเที่ยวในการเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักรู้และคุณค่าในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เป็นเครื่องมือสำคัญ

ในการสร้างคุณค่า และมูลค่าของสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวไทยสู่สากล เป็นการยกระดับภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้ว่า เมื่อเลือกใช้สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย Thailand Tourism Awards ที่มีสัญลักษณ์เป็นกินรี มั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการจากผู้ประกอบการที่มีการการันตีมาตรฐานและคุณภาพ ทั้งในด้านการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและยั่งยืน (Safe and Sustainable Tourism) รวมทั้งการรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism)  




โดยกรอบแนวคิดในการพิจารณาตัดสินรางวัล ครั้งที่ 14 ในปี 2566 นี้ อยู่บนพื้นฐานของ 3 แนวคิดหลัก คือ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ภายใต้กระบวนการจัดการที่คำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมโดยมีกลไกสำคัญ คือ โมเดลเศรษฐกิจยั่งยืนแบบใหม่ BCG Economy Model ผสานกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) และการบริหารจัดการคาร์บอนต่ำ (Low Carbon & Sustainability management) และอีก 2 แนวคิดหลัก คือ ความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Safety & Health Administration) และความสนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยว (Customers Interest)




การประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566

แบ่งเป็น 5 ประเภทหลัก 14 สาขาย่อย ดังนี้

1. ประเภทแหล่งท่องเที่ยว (Attraction) แบ่งประเภทรางวัลย่อยออกเป็น 6 สาขา ประกอบด้วย

1.1 สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการผจญภัย (Outdoor & Adventure Activities)

1.2 สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ (Learning & Doing)

1.3 สาขาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ (Nature & Park)

1.4 สาขาแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการและความบันเทิง (Recreation & Entertainment)

1.5 สาขาแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Historical & Culture)

1.6 สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน (Local & Community)

 2. ประเภทที่พักนักท่องเที่ยว (Accommodation) แบ่งประเภทรางวัลย่อยออกเป็น 4 สาขา ประกอบด้วย

2.1 สาขาลักซ์ชูรี โฮเทล (Luxury Hotel)

2.2 สาขาโลเคชั่น โฮเทล (Location Hotel)

2.3 สาขารีสอร์ต (Resort)

2.4 สาขาดีไซน์ โฮเทล (Design Hotel)

3. ประเภทการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness Tourism) แบ่งประเภทรางวัลย่อยออกเป็น 4 สาขา ประกอบด้วย

3.1 สาขาสปา (Spa)

3.2 สาขาเวลเนส สปา (Wellness Spa)

3.3 สาขาเวลเนส แอนด์ สปา รีทรีต (Wellness & Spa Retreat)

3.4 สาขานวดไทย (Nuad Thai for Health)

 4. ประเภทรายการนำเที่ยว (Tour Programmes) 

 5. ประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน Low Carbon & Sustainability 

รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย แบ่งออกเป็น 3 รางวัล ดังนี้ 

 1. รางวัลยอดเยี่ยม (Thailand Tourism Gold Award) 

 2. รางวัลดีเด่น (Thailand Tourism Silver Award) 

 3. เกียรติบัตรรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Certificate) 

***โดยผลงานที่ได้รับรางวัล Thailand Tourism Gold Award จำนวน 3 ครั้งติดต่อกัน โดยไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลประเภทเดียวกัน จะได้รับรางวัล Hall of Fame 


สิทธิประโยชน์จากทางโครงการ ฯ ผลงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จะได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย Thailand Tourism Awards 

ที่มีสัญลักษณ์เป็นกินรี เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว ด้วยมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดในการเสนอขายสินค้าและบริการแก่นักท่องเที่ยว และได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมการขายและการตลาด ผลงานที่ได้รับรางวัลได้รับสิทธิ์ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดกับ ททท. ดังต่อไปนี้

● ได้รับเชิญเข้าร่วมงานส่งเสริมการขาย Trade Show/Road Show/Consumer Fair ของ ททท. และพันธมิตรที่ ททท. สนับสนุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มตลาด 

● ได้รับสิทธิ์ส่วนลดค่าใช้จ่าย 50% ในการเข้าร่วมงานส่งเสริมการขายกับ ททท. ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มตลาด 

● ได้รับการนำเสนอข้อมูลขายผ่านสื่อการตลาดดิจิทัลของ ททท.
ได้แก่ Video clip/E-Book/Digital Brochure  

2. ประชาสัมพันธ์ ผลงานที่ได้รับรางวัลจะได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ ดังต่อไปนี้

● ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออฟไลน์ และออนไลน์ของ ททท. ได้แก่ เพจ Amazing Thailand และเพจ Thailand Tourism Awards/อนุสาร อสท.

● ประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ข่าวออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ 

● ประชาสัมพันธ์ผ่าน Blog/สื่อโซเชียลมีเดียท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง

3. ยกระดับพัฒนาองค์กร Upskill - Reskill

● ได้รับสิทธิ์ร่วมกิจกรรม Seminar/Workshop อาทิเช่น Online Digital Marketing Workshop และงานสัมมนาเจ้าบ้านที่ดี 2566 เป็นต้น

ทั้งนี้จะเปิดรับสมัครในวันที่ 1 มีนาคม - 30 เมษายน 2566 และประกาศผลรางวัลวันที่ 8 กันยายน 2566
โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันท่องเที่ยวโลก (World Tourism Day) วันที่ 27 กันยายน 2566

ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ประสงค์เข้าร่วมการประกวด สามารถศึกษาข้อมูลคุณสมบัติ

และเกณฑ์การตัดสินเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสมัครได้ที่ 

www.thailandtourismawards.com

www.facebook.com/ThailandTourismAwardsNew 

Line Official Account หลักของโครงการประกวดอุสาหกรรมท่องเที่ยวไทย : @tourismawards 

Line Official Account แยกตามประเภทรางวัล

ประเภทแหล่งท่องเที่ยว : @tourismawards1

ประเภทที่พัก : @tourismawards2

ประเภทการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ : @tourismawards3

ประเภทรายการนำเที่ยว : @tourismawards4

ประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน : @tourismawards5

วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

เช้าวันใหม่!“จุรินทร์”มอบ 35 รางวัล ข้าวหอมมะลิ-ข้าวถุงคุณภาพดีไทย ปี65

คาดปี 66 ส่งออกข้าวไทยทะลุ 8 ล้านตัน ขึ้นแท่นอันดับ 2 ของโลก สร้างเงิน สร้างอนาคตชาวนาไทย 


วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.30 น.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ประจำปี 2565 ครั้งที่ 40 และการประกวดข้าวถุงคุณภาพดี ประจำปี 2565 พร้อมด้วย นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน เพื่อรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพข้าวหอมมะลิ และข้าวสารบรรจุถุงของไทย ส่งเสริมการเพาะปลูกและสร้างต้นแบบการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพ การผลิตและจำหน่ายข้าวสารคุณภาพดี และเชิดชูชาวนาและผู้ประกอบการผู้รักษาคุณภาพข้าวไทย

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญอย่างยิ่งของไทย สถานการณ์ราคาข้าววันนี้ดีขึ้นเป็นลำดับ และถ้าวันไหนราคาข้าวตกต่ำ รัฐบาลนี้ก็ยังมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวชดเชยเงินส่วนต่างผ่านบัญชี ธ.ก.ส.โดยตรง ให้มีรายได้ตามที่ประกันไว้ โดย 4 ปี ที่ผ่านมาจ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกรไปแล้วถึง 180,000 ล้านบาท ช่วยเติมเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกร มีครอบครัวได้เงินส่วนต่างสูงสุดถึง 76,600 บาท และมีเงินอีกก้อนคือไร่ละพัน ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน อีกก้อนเข้ากระเป๋าชาวนา

สำหรับข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ปีที่แล้วส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 18% 1.25 ล้านตัน รวมข้าวทุกชนิดปี 64 ส่งออกทั้งปี 6.3 ล้านตัน ปี 65 รวมข้าวทุกชนิดส่งออก 7.7 ล้านตัน เป็นที่ 2 ของโลก ที่ 1 อินเดีย เราแซงเวียดนามมาเป็นที่สอง ในปี 65 และปีนี้คาดการณ์ว่าส่งออกจะเกิน 8 ล้านตัน มีส่วนช่วยให้ราคาข้าวดีขึ้น ช่วยเกษตรกร ช่วยสร้างเงินให้กับประเทศ 






“โดยวันนี้จะมีการมอบรางวัล 2 ชุด 1.รางวัลประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทยประจำปี 2565 ครั้งที่ 40 มีผู้ได้รับรางวัล 21 ราย และประกวดข้าวถุงมีผู้ได้รับรางวัล 14 ราย รวม 35 รางวัล จากผู้เข้าประกวด 425 ราย ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน ตนเชื่อมั่นว่างานวันนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญและเป็นพลังในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทย นำประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิต การส่งออกข้าว และผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว


ข้อมูลจากกรมการค้าภายในระบุว่า ผู้ชนะการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทยประจำปี 2565 ครั้งที่ 40 ประเภทเกษตรกรรายบุคคล รางวัลที่ 1 นายสำรวย สร้อยแก้ว จ.ยโสธร รางวัลที่ 2 นางสาวกงใจ คำมีนาม จ.สุรินทร์ รางวัลที่ 3 นางทัศนีย์ อำขำ จ.พะเยา และประเภทสถาบันเกษตรกร รางวัลที่ 1 กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ต.ไผ่ใหญ่ จ.อุบลราชธานี รางวัลที่ 2 วิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่ ต.เกาะแก้ว จ.สุรินทร์ รางวัลที่ 3 กลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าว ต.คำเตย จ.ยโสธร และผู้ชนะการประกวดข้าวสารบรรจุถุงคุณภาพดี ประเภทผู้ประกอบการโรงสี/สหกรณ์ ชนิดข้าวหอมมะลิ รางวัลที่ 1 ตรา A-Rice รางวัลที่ 2 ตราผูกปิ่นโต รางวัลที่ 3 ตราไดโนเสาร์ ข้าวหอมไทย รางวัลที่ 1 ตราเอิร์ธไรซ์ รางวัลที่ 2 ตราลูกโลก รางวัลที่ 3 ตราดอกมะลิ ข้าวเหนียว รางวัลที่ 1 ตรานกนางนวล รางวัลที่ 2 ตราไหสี่หู รางวัลที่ 3 ตรานกคาบรวงข้าว ข้าวขาวพื้นนุ่ม รางวัลที่ 1 ตราต้มยำกุ้ง ข้าวขาวพื้นแข็ง รางวัลที่ 1 ตรากระต่ายทอง และสำหรับประเภทกลุ่มเกษตรกร ชนิดข้าวหอมมะลิ รางวัลที่ 1 ตราข้าวเล่าชีวิต จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์เป็นสุข จ.กาฬสินธุ์ รางวัลชมเชย ตรากำนันดี จากวิสาหกิจชุมชนเมล็ดพันธุ์พืชและผลิตปุ๋ยชีวภาพและแปรรูป  จ.สกลนคร รางวัลชมเชย ตราขวัญยโสธร จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติหนองยอ (บ้านกุดหิน) จ.ยโสธร และภายในงานได้มีการลงนาม MOU ซื้อข้าวหอมมะลิร่วม 1,066 ตัน ในราคานำตลาด ระหว่างเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร กับโรงสี 5 รายด้วย

วช. ชูโมเดล “สวนป้องกันฝุ่น PM2.5 และ เฝ้าระวังฝุ่น PM2.5” เพิ่มพื้นที่สีเขียว

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแถลงข่าว “โมเดลสวนลดฝุ่น PM 2.5 และ เฝ้าระวัง PM 2.5” เพื่อช่วยลดผลกระทบปัญหาฝุ่นละออง ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่สูงเกินมาตรฐาน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการแถลงข่าว และ คณะผู้บริหาร วช. ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วย ดร.ภูชีวันท์ สุริยะวงศ์  นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรองศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมแถลงข่าว ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และ สวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จสู่การใช้ประโยชน์ โดยการสื่อสารและให้เห็นภาพการทำงานที่เกิดสาธารณประโยชน์แก่พี่น้องภาคประชาชน ซึ่งในขณะนี้ ปัญหาฝุ่นละออง หรือ ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทุกปี วช. เล็งเห็นถึงปัญหาที่ประชาชนได้รับ จึงสนับสนุนทุนวิจัยในแผนงานโครงการวิจัยเพื่อทำงานในเชิงพัฒนาชุดข้อมูลองค์ความรู้จากงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เกิดเป็นระบบสารสนเทศ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบจาก ฝุ่น PM2.5 ซึ่งผลงานดังกล่าวอยู่ในกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 




โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วช. ได้นำระบบเทคโนโลยีการเฝ้าระวังมาใช้ในการให้ข้อมูลเชิงสาธารณกับพี่น้องประชาชน คือ “ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (Air Quality Information Center: AQIC)” ที่มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการติดตามเฝ้าระวังและเตือนภัยด้วยข้อมูลฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการรายงานผลและเห็นภาพของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นเซ็นเซอร์ในการตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ที่สามารถติดตามคุณภาพอากาศของประเทศได้ อาทิ DustBoy ที่รายงานผลในระบบของการติดตามคุณภาพอากาศ และการติดตามในเชิงระบบ การจำลองคุณภาพอากาศ การพยากรณ์คุณภาพอากาศ การติดตาม โดยข้อมูลการทำงานดังกล่าวเป็นการร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลจากภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงาน ทั้งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มลภาวะ มลพิษทางอากาศ ซึ่งทำให้เห็นการเข้าถึง เกิดนวัตกรรมในลักษณะเทคโนโลยี เกิดรูปแบบของการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก เช่น เว็บไซต์ แอปพิเคชันบนมือถือ เป็นต้น

ในส่วน“การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบนิเวศป่าในเมือง” ได้มีการศึกษาวิจัยและเห็นภาพของการนำต้นไม้หลายพันธุ์ที่ใช้ประโยชน์ในการสร้างระบบนิเวศในป่าเมือง ทำให้ทราบชนิดพืชที่มีศักยภาพในการลดฝุ่น PM2.5 และกลไกการบำบัดฝุ่นด้วยพืช เกิดเป็นแนวคิดการสร้างแบบจำลองระดับเมืองหรือระดับถนน โดย อ้างอิงจากข้อมูลอัตราการไหลและทิศทางการไหลของอากาศในพื้นที่จริง เพื่อให้เห็นรูปแบบการไหลเวียนอากาศตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อันเป็นภาพรวมและประโยชน์จากงานวิจัย การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่นอย่างยั่งยืนด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบป่าในเมือง ซึ่งในสวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” ประกอบไปด้วยต้นไม้ 3 ระดับ ไม้ขนาดใหญ่ เป็นต้นไม้เดิมจะปกคลุมชั้นเรือนยอด เช่น ราชพฤกษ์ประดู่บ้าน และพิกุล โดยไม้ที่นำมาปลูกเพิ่มจะเป็นไม้ขนาดกลางและไม้ขนาดเล็ก โดยทั่วไปนั้นฝุ่นละอองเล็ก PM2.5 จะถูกพัดพาไปตามกระแสอากาศ ดังนั้นสวนแห่งนี้จึงมีการออกแบบให้กระแสอากาศที่มาจากถนนไหลไปตามแนวพื้นที่ว่างเกิดจากการปลูกต้นไม้ที่มีใบขนาดเล็กทรงโปร่งเป็นแนวดักลมเมื่ออากาศเคลื่อนที่ช้าลงทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกดักจับด้วยใบพืชที่มีประสิทธิภาพในการลด PM2.5 ส่วนความชื้นจากการคายน้ำของพืชบริเวณนั้นยังช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับฝุ่นละลองขนาดเล็กให้เคลื่อนที่ลดลง เพิ่มเวลาให้พืชช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้ นอกจากนี้ภายในสวนยังมี โซนจัดวางต้นไม้กันฝุ่น ได้แก่ โซนลิ้นมังกรสู้กลิ่น พันธุ์ไม้อวบน้ำและพืชในกลุ่ม อาทิ ต้นลิ้นมังกร ต้นสับปะรดสี ที่มีสรรพคุณช่วยลดสารระเหย กลิ่นเหม็นและฝุ่นได้ดี และยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางคืนด้วย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ต้นลิ้นมังกร สามารถลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 40 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450 – 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โซนพันธุ์ไม้มีขนลด PM ต้นไม้หลายชนิดมีใบที่มีขนที่ช่วยในการจับตรึง ฝุ่นละอองในอากาศได้ โดยพืชที่มีลักษณะดังกล่าว อาทิ ต้นพรมกำมะหยี่ และต้นพรมญี่ปุ่น 




โดยต้นพรมกำมะหยี่ สามารถลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 60 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450 – 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และโซนพันธุ์พืชลดมลพิษ อาทิ ต้นไทรใบสัก ต้นมอนสเตอร์เรล่า ต้นหมาก ต้นเดหลี ต้นพลูปีกนก ต้นคล้ากาเหว่าลาย ต้นกวักมรกต ต้นคล้าแววมยุรา และต้นคล้านกยูง ซึ่งจากงานวิจัยพันธุ์พืชลดมลพิษพบว่า พืชจำนวนมากสามารถช่วยบำบัดฝุ่นและมลพิษอากาศอื่น ๆ ได้ดี อีกด้วย




ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาแสดงในวันนี้ เป็นผลงานที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในทุกพื้นที่ “เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี”

ข่าวประชาสัมพันธ์

ยูเอฟเอ็ม ครบรอบ 60 ปี แจกทองคำเป็นล้าน รวมกว่า 6 ล้านบาท

เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี  บริษัท ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ UFM ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแป้งสาลีรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดกิจกรรม “...

โวยวายดอทคอม