วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2567

ผส.จับมือพันธมิตร ท้าให้มาลั้นลากับชีวิต” กับ O-lunla Market ปล่อยพลังคนวัยซ่า ครั้งที่ 2 และ 3


วันที่ 15 มี.ค.67 เวลา 10.00 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ และนางสาวศุภาญา ธนวัฒน์เสรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เปเปอร์คอร์รัส ผู้ก่อตั้งนิตยสารโอ-ลั้นลา ร่วมแถลงข่าวกิจกรรม “โอ-ลั้นลามาร์เก็ต ปล่อยพลังคนวัยซ่า” โดยมีตัวแทนสูงวัยไอดอล คุณอนุสร ตันเจริญ เจ้าของเพจลุงอ้วนกินกะเที่ยว คุณฐิติรักษ์ รวีพงศ์ธราวุธ ผู้ก่อตั้ง เจปัง ไอติมย่างเนย และคุณอรุณศรี ฉ่ำเฉียวกุล จิตอาสาไลน์แดนซ์ ร่วมพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจ ณ บริเวณโถงชั้น 1 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ นิตยสารโอ-ลั้นลา  จัดงาน O-lunla Market ครั้งที่ 2 ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) 5-7 เมษายน 2567 และ O-lunla Market ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์  26-29 กันยายน 2567 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ปล่อยพลังคนวัยซ่า” (SA:Silver Age) พบกับหลากหลายความลั้นลาในงาน อาทิ  ไอดอลวัยซ่าร่วมทอล์กสร้างแรงบันดาลใจ เริงลีลาศ ร้อง เต้น เล่นดนตรีโดยวัยซ่ารุ่นใหญ่ไฟกะพริบ เวิร์กชอปสุดพิเศษที่พลาดแล้วบอกได้คำเดียวว่าเสียดาย ตรวจสุขภาพ และร้านค้าของพ่อค้าแม่ค้าวัย 55+ ที่ทำด้วยรัก คัดด้วยใจนำสินค้ามาให้ชอปเพลินๆ  กว่า 60 ร้านค้า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 กล่าวคือ มีอัตราส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete- Aged Society) โดยมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวน 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super - Aged Society) ในปี พ.ศ. 2576 และในปี พ.ศ. 2583 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 31.37 ของประชากรทั้งหมด 


นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ภารกิจของกรมคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุครอบคลุมใน 5 มิติ ประกอบด้วย มิติทางสุขภาพ มิติทางสังคม มิติมิติทางสิ่งแวดล้อม มิติทางเศรษฐกิจ และมิติทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม การร่วมจัดกิจกรรมโอ-ลั้นลา มาร์เก็ต ในปี 2567 นี้ เนื่องจากกิจกรรมนี้ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในมิติทางเศรษฐกิจหากถอดบทเรียนประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุก่อนประเทศไทย จะพบปัญหาคล้ายคลึงกันคือ ปัญหาขาดแคลนแรงงานวัยทำงาน อัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุมากขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศเพิ่มขึ้น ตลอดจนปัญหาด้านการเงินส่วนบุคคลที่ไม่ได้ออมไว้มากพอสำหรับวัยเกษียณ แต่การแก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยการสงเคราะห์นั้นใช้งบประมาณสูงมากและทำเท่าใดก็ไม่เพียงพอ วิธีการที่ดีกว่าก็คือการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี และส่งเสริมการมีงานทำ 

“ข้อมูลอ้างอิงจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า คนไทยหลังวัยเกษียณควรมีเงินออมขั้นต่ำ 4 ล้านบาท ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากไม่ได้เตรียมพร้อมในด้านการเงิน  กรมจึงทำงานเชิงรุก สนับสนุนการสร้างอาชีพ การขยายเวลาการทำงาน ตลอดจนการออมและการลงทุนกับหน่วยงานพันธมิตร”

กรมกิจการผู้สูงอายุ ร่วมกับ นิตยสารโอ-ลั้นลา จัดกิจกรรมโอ-ลั้นลามาร์เก็ต เพื่อเป็นต้นแบบการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงและมีศักยภาพได้ฟื้นฟูทักษะ (Reskill) หรือพบอาชีพใหม่ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีความสามารถในการสร้างรายได้ เป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย และเป็นพลังที่จะทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน


นางสาวศุภาญา ธนวัฒน์เสรี ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารโอ-ลั้นลา  กล่าวว่าโอ-ลั้นลาเชื่อมั่นใน “พลังสร้างสรรค์” ของผู้สูงอายุ จึงได้จัดทำนิตยสารนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อนำเรื่องราวของผู้สูงอายุที่เปี่ยมประสบการณ์ มองโลกเชิงบวก และกล้าทำสิ่งใหม่ในวัยใกล้เกษียณมานำเสนอทั้งในรูปแบบนิตยสารฟรีก็อปปี้ สื่อออนไลน์ และพัฒนาสู่กิจกรรมออนกราวด์ต่างๆ อาทิ เวิร์กช็อป ทริปท่องเที่ยว การจัดสัมมนาปัจฉิมนิเทศ เป็นต้น 

 โอ-ลั้นลามาร์เก็ต เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ตอกย้ำให้เห็น “พลัง” ของผู้สูงวัย สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และยังช่วยปูทางการสร้าง “อาชีพที่สอง (Second Career)” หลังเกษียณ เพื่อพึ่งพิงตนเองได้ในอนาคต 

“โอ-ลั้นลามาร์เก็ต  ถูกออกแบบให้เป็น ‘มากกว่าตลาด’ คือ คอมมูนิตี้หรือชุมชนปล่อยพลังคนวัยซ่า มีสีสันและกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการแสดงเอนเตอร์เทนเมนท์โดยผู้สูงวัย ทอล์กสร้างแรงบันดาลใจจากสูงวัยไอดอล เวิร์ก ชอปสุขภาพ เวิร์กชอปศิลปะด้านภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่า”

 ทั้งนี้ จากการจัดโอ-ลั้นลา มาร์เก็ต ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2566 และได้รับการตอบรับที่ดี ในปี 2567 จึงดำเนินการต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

• ครั้งที่ 2  ระหว่างวันศุกร์ที่ 5 – วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2567 ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง 

• ครั้งที่ 3  ระหว่างวันพฤหัสที่ 26 – วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์  

เอ็ม ดิสทริค ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์ เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่ร่วมส่งเสริมและเตรียมพร้อมสังคมผู้สูงอายุ 

โดยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่แข็งแรงได้ทำงานต่อเนื่อง หรือพบอาชีพที่สอง นอกจากเป็นการเตรียมพร้อมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าในตัวเองมากที่สุด ยังเป็นการกระตุ้นเตือนการวางแผนการเงินเพื่อใช้ยามเกษียณ

เอ็ม ดิสทริค ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์ มีความยินดีสำหรับการเปิดพื้นที่สำหรับทุกๆกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้สังคม และขอขอบคุณผู้จัดทำนิตยสารโอ-ลั้นลา และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เช่นกัน ที่นำกิจกรรม โอ-ลั้นลา มาร์เก็ต  ปล่อยพลังวัยคนซ่า ครั้งที่ 3 มาจัดที่เอ็มควอเทียร์ ระหว่างวันที่ 26-29 กันยายน นี้ โดยเอ็มควอเทียร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมดังกล่าวที่ทีมงานนิตยสารโอ-ลั้นลาจัดขึ้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคอมมูนิตี้สุขุมวิท ทั้งในกลุ่มคนไทยและ Expat ในประเทศ ตลอดจนนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้สนใจ 

#Highlightในงาน  O-lunla Market ปล่อยพลังคนวัยซ่า ครั้งที่ 2 

🎯 เชิญร่วมรับฟังการแบ่งปันประสบการณ์  ปล่อยพลังคนวัยซ่า   กับ สูงวัยไอดอล  อาทิ

-  คุณอรุณศรี ฉ่ำเฉียวกุล จิตอาสาไลน์แดนซ์ ใช้การเต้นจุดพลังวัยซ่า 

- ดร. สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการแถวหน้าของไทย

- คุณฐิติรักษ์ รวีพงศ์ธราวุธ  เริ่มธุรกิจใหม่ เจปัง ไอติมย่างเนย ในวัย 58+

✅  ช้อปเพลิน เจริญพุง กับร้านค้าโดยพ่อค้าแม่ขายวัยใส วัย 55 +✅ สมัครงานกับองค์กรสายตาไกลรับสูงวัยเข้าทำงาน

✅ ลีลาศ 

✅ การแสดง ดนตรี เต้น เล่น ร้อง จากวัยซ่ารุ่นใหญ่ไฟกะพริบ

✅  Exclusive Workshop สร้างอาชีพ สร้างสุขภาพ   

✅ บรรยายสุขภาพ  ฯลฯ

งานนี้  วัยซ่า และลูกหลาน   ต้องไม่พลาด !!!!!  ครั้งที่ 2 วันที่ 5–7 เมษายน 2567 ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง และ ครั้งที่ 3 วันที่ 26–29 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์  

#กรมกิจการผู้สูงอายุ   #Olunlaclub   #OlunlaMarket   #ปล่อยพลังคนวัยซ่า  

🎯 สูงวัยไอดอล“วัย” ไม่ใช่อุปสรรคในการเริ่มต้น สองท่านนี้คือตัวอย่าง ของสูงวัยไอดอล ที่เริ่มต้นอาชีพใหม่ในวัยใกล้เกษียณ

🟡 คุณฐิติรักษ์ รวีพงศ์ธราวุธ (ป้าอ้วน) ผู้ร่วมก่อตั้ง เจ-ปัง ไอติมย่างเนย วัย 65 ปี ในอดีตเคยทำธุรกิจเสื้อยืดแบรนด์ “เป่ายิ้งฉุบ” ด้วยเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จึงวางมือ และส่งมอบธุรกิจนี้ให้หลาน ในวัย 58 ปี ป้าอ้วนยังคงไม่หยุดนิ่ง และมองหาสิ่งใหม่ในชีวิตเพื่อให้สมองยังได้ทำงานและมีชีวิตชีวา ด้วยเป็นคนชอบรับประทานไอศกรีม เธอและน้องชายจึงไปลงคอร์สเรียนไอศกรีม ก่อนมาเปิดร้านที่ตลาดวังหลัง   ช่วงเวลานั้นเอง เกิดวิกฤตโควิด-19  ร้านไอศกรีมจึงได้รับผลกระทบทางด้านยอดขาย 

 ป้าอ้วน มองข้ามปัญหาด้านยอดขาย เดินหน้าผลิตไอศกรีมเพื่อมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานต่อสู้กับโควิด-19  ไอศกรีมของป้าอ้วนได้รับคำชื่นชมโดดเด่นที่รสชาติกลมกล่อม ไม่หวานมาก โดยใช้น้ำตาลอ้อยออร์แกนิก เมื่อหลานชายกลับมาจากต่างประเทศ ได้ร่วมเสนอไอเดียเพิ่มมูลค่าให้ไอศกรีม โดยนำขนมปังมาย่างกับเนยหอมๆ  ให้ความรู้สึกเหมือนวัยเด็กที่กินไอศกรีมคู่ขนมปัง ปรับชื่อร้านเป็น “เจ-ปัง” และใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่จากร้านสาขาแรกที่วังหลัง ปัจจุบัน เจ-ปัง ไอติมย่างเนยสูตรเฉพาะของครอบครัว ขยายสาขาสู่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำกว่า 20 สาขา และน้อยคนนักอาจจะทราบว่า ร้านไอติมย่างเนยที่โด่งดังครองใจวัยรุ่น เกิดจากการเริ่มต้นและทำงานร่วมกันของคนสองรุ่น “ทำงานกับคนรุ่นใหม่ เราต้องเชื่อและมั่นใจในรุ่นเขา”  

🟡 คุณอนันต์  วิวัฒนผล (ลุงพล) ผู้ผลิตน้ำข้าวโพด Uncle Pol Shop วัย 65 ปี​ อดีตนักธุรกิจผลิตโคมไฟประหยัดพลังงานที่ประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ สต๊อกสินค้าจมน้ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ความเครียดสะสมได้ทำลายสุขภาพกายและใจ ร่างกายซูบผอมและตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระดูกชนิดร้ายแรงเมื่อปี 2558  ทีมแพทย์แจ้งว่าสามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกเพียง 3-6 เดือน คุณอนันต์ใช้เวลาช่วงนั้นทำความดีทุกวันเพื่อเตรียมพร้อมวาระสุดท้าย จิตใจที่ผ่อนคลายลงทำให้มีความสุขมากขึ้น และเปิดรับการรักษาตามคำแนะนำของหมอและการรักษาทางเลือกที่ตนเองอ่านค้นคว้าเพิ่มเติมการสู้กับมะเร็งดำเนินมาถึงขั้นที่ต้องยอมสูญเสียขาเพื่อรักษาชีวิต ลุงพลเตือนสติกับตัวเองไม่ให้จมจ่อมพ่ายแพ้กับโรคร้าย ทำอย่างไรก็ได้ให้ชีวิตห่างไกลจากการเป็นผู้ป่วยติดเตียง จึงตัดสินใจลุกขึ้นฝึกขับรถด้วยเท้าซ้ายเพียงข้างเดียว เมื่อทำได้ ความมั่นใจและกำลังใจค่อยๆ ฟื้นคืน  ระหว่างการฟื้นฟูร่างกายจากเคมีบำบัด ลุงพลได้รับรู้ข้อมูลประโยชน์ของน้ำข้าวโพดที่มีแอนติออกซิแดนท์สูง และเมื่อศึกษาเชิงลึกพบว่า “วัตถุดิบ” ที่ดีจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำข้าวโพดที่แตกต่างจากท้องตลาด นั่นคือเลือกใช้ข้าวโพดที่มีอายุไม่เกิน 65 วัน และตัดจากไร่ส่งมาถึงโรงผลิตไม่เกิน 12 ชั่วโมง ทำการคั้นพร้อมซาง เพราะจมูกเมล็ดข้าวโพดที่ติดอยู่กับซาง อุดมไปด้วยสารอาหารที่เสริมสร้างเซลล์

ปัจจุบันลุงพลมีโรงงานผลิตน้ำข้าวโพดขนาดเล็กอยู่ที่จังหวัดราชบุรี โดยรับข้าวโพดสดมาจากอำเภอสวนผึ้ง  และนำน้ำข้าวโพดออกขายตามตลาดนัดและงานอีเวนต์ต่างๆ “กำลังใจ อาจหาได้จากคนรอบข้าง แต่ความเข้มแข็ง ต้องสร้างจากใจของเราเอง”

ข่าวประชาสัมพันธ์

รองผู้ว่าฯปทุมธานี ชวนพี่น้องชาวปทุมธานี ออกกำลังกายและเล่นกีฬาพร้อมนับแคลอรี

 ผ่าน แอปพลิเคชัน Calories Credit Challenge  “CCC”   วันนี้ (25 ก.ค.67) เวลา 15.30 น. ที่ โรงแรมทินิดี โฮเต็ล บางกอก กอล์ฟ คลับ จังหวัดปทุมธ...

โวยวายดอทคอม