วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2566

รวมพลังผู้ก่อการดี ทั้ง บ้าน วัด โรงเรียน และราชการ ประกาศขับเคลื่อนตำบลเจ็ดเสมียนมุ่งสู่ตำบลสุขภาวะต้นแบบ


แม้การสร้างพื้นที่สุขภาวะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ  เช่น ลด ละ เลิก  เหล้า บุหรี่  จะไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ด้วยพลังความร่วมมือ ความสามัคคีของ ผู้นำชุมชน  และ “ผู้ก่อการดี” ตำบลเจ็ดเสมียน อ.โพธาราม   
จ. ราชบุรี ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งพื้นที่สุขภาวะ ในโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พิสูจน์แล้วว่า ทำได้ เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน และเยาวชน อนาคตของชาติ                                                                                                  

โดยในช่วงปี พ.ศ.2565-2566  ได้เกิดพื้นที่สุขภาวะในตำบลเจ็ดเสมียน และมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบที่เป็นประโยชน์กับคนทุกวัย  และดำเนินการกันอย่างต่อเนื่อง  โดยผู้นำและคนในชุมชนริเริ่มกันขึ้นมา เช่น การจัดลานกีฬา การแข่งกีฬาปลอดบุหรี่ การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ การสร้างความตระหนักให้เยาวชน รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงวัย และการสืบสานคุณค่าวัฒนธรรม ประเพณี ของดีเจ็ดเสมียน เหล่านี้เป็นต้น         
                          


ด้วยความร่วมมือของผู้ก่อการดีอย่างเข้มแข็งในตำบลเจ็ดเสมียน จึงพร้อมมุ่งสู่การเป็นตำบลสุขภาวะต้นแบบ   โดยล่าสุดเมื่อวันที่  23 กันยายน พ.ศ.2566  ในงาน “มหกรรมสุขภาวะดีตำบลเจ็ดเสมียน สานพลังผู้ก่อการดีมุ่งสู่การเป็นตำบลสุขภาวะต้นแบบ” ที่ศาลาริมน้ำ วัดเจ็ดเสมียน มีการทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วย ความร่วมมือในการสร้างตำบลเจ็ดเสมียน เป็นตำบลสุขภาวะต้นแบบ ระหว่างเทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน  โดย นายเทวัญ ห่วงตระกูล   นายกเทศมนตรี ในฐานะผู้นำท้องที่  พระครูสีลวิสุทธิคุณ  คุณสีโล เจ้าอาวาสวัดเจ็ดเสมียน  โรงพยาบาลเจ็ดเสมียน อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงเรียน ผู้ประกอบการ  และ ห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย)  โดย   ดร. อุดม หงส์ชาติกุล   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินการ ให้ตำบลเจ็ดเสมียนเป็นตำบลสุขภาวะต้นแบบ ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันดังนี้   

1.การจัดกิจกรรมในตำบลเจ็ดเสมียน ให้มีการแจ้งเตือนเรื่องการงดสูบบุหรี่ ในสถานที่จัดกิจกรรม               

2.ในกรณีที่จำเป็น อาจจัดให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ได้ แต่พื้นที่ดังกล่าวต้องอยู่ห่างไกลจากพื้นที่จัดกิจกรรม และไม่รบกวนต่อสาธารณะ    

3.ทุกภาคส่วนจะร่วมกันตรวจสอบ เฝ้าระวัง และตักเตือนเมื่อมีการสูบบุหรี่ในพื้นที่จัดกิจกรรม หรือในพื้นที่ที่กฎหมายระบุว่าเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่


ภายใต้ข้อตกลงนี้ ทุกภาคส่วนในตำบลเจ็ดเสมียน จะประสานความร่วมมือระหว่างกันและสนับสนุนการดำเนินงาน ตลอดจนติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงข้างต้น ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป และในวันเดียวกันนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ให้ชุมชนถึงการมุ่งสู่ตำบลสุขภาวะต้นแบบ โดยมี อสม. กว่า 100 คน ได้ร่วมกันเดินรณรงค์ พร้อมให้ข้อมูล กับคนในชุมชน ทั้ง 6 หมู่บ้าน  เพื่อรณรงค์ ลด ละเลิก บุหรี่มือสอง เน้นเรื่องผลกระทบจากควันบุหรี่มือสอง เป็นการกระตุ้นให้บรรดาผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้านได้ตระหนักถึงพิษภัยของควันบุหรี่ นอกจากนี้มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกายให้ผู้สูงอายุ โดยชมรมผู้สูงอายุตำบลเจ็ดเสมียน และ โรงพยาบาลเจ็ดเสมียน จัดบุคลาการทางการแพทย์มาตรวจสุขภาพให้ผู้สูงอายุ  เช่น เช็คเบาหวาน ความดัน เข่าเสื่อม สุขภาพฟัน อีกทั้งอาสาสมัครช่างตัดผมมาตัดผมฟรี รวมถึงการมีส่วนร่วมของนักเรียน วัดสนามชัย  มาแสดงความสามารถ ทำการแสดงหมอลำ สร้างสุขให้ทุกคน อีกด้วย

                                                                                  

และโอกาสนี้  ทางโครงการฯ  ได้มอบเกียรติบัตร ขอบคุณ ผู้ก่อการดีตำบลเจ็ดเสมียนด้วย ตัวอย่างพื้นที่สุขภาวะตำบลเจ็ดเสมียน คือ ลานเอนกประสงค์ ริมน้ำ ตลาดเก่า 119 ปี  ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และ ยาเสพติด  เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน ที่มาใช้พื้นที่ เช่น ทำกิจกรรมแอโรบิค  การเปิดงานต่างๆ การเล่นสเก็ตบอร์ด   

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และ Imagine Thailand Movement ผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมมหกรรมสุขภาวะดีตำบลเจ็ดเสมียน สานพลังผู้ก่อการดี เหมือนเป็นการสรุปการขับเคลื่อนเรื่องที่ผ่านมา ทำให้คนในตำบลเจ็ดเสมียนได้เข้ามามีส่วนร่วม ได้เห็นผู้ก่อการดีจำนวนมากมาย ได้เห็นการขยายตัวของกลุ่มผู้ก่อการดี ทั้งในบทบาทผู้นำอย่างเป็นทางการที่มาจากทุกภาคส่วน รวมถึงผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็น ปราชญ์ ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ รวมถึงศิลปิน เช่น ครูนาย มานพ มีจำรัส ศิลปินเจ้าของรางวัล ศิลปาธร   \                                                     

“ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่สะท้อนให้คนเห็นว่าตำบลเจ็ดเสมียนมีของดี มีคนดี มีคนที่อยากจะเห็นตำบลนี้เป็นตำบลสุขภาวะ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการทำเพื่อลูกหลาน เพื่อตัวเอง ทำเพื่อคนที่เรารัก และทำเพื่อคนที่รักเรา ทุกคนได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาก็ริเริ่มโดยคนเจ็ดเสมียน และกิจกรรมเหล่านั้นได้สานร้อยพลังของผู้ก่อการดีเข้าด้วยกัน ผลที่เกิดขึ้น คือ เด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่ รวมถึงผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ ผู้สูงอายุ ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วม ในกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย ผู้ใหญ่ เด็กเยาวชน ต่างเห็นว่าเป็นประโยชน์ และเชื่อมั่นว่ากิจกรรมเหล่านี้ก็จะได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดมีสุขภาวะที่ดีของคนในตำบลเจ็ดเสมียนอย่างยั่งยืน” ดร.อุดม กล่าว                                


นายเทวัญ ห่วงตระกูล  นายกเทศมนตรี ตำบลเจ็ดเสมียน กล่าวว่า ขอบคุณอิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ ที่เลือกเจ็ดเสมียนเป็นหนึ่งในชุมชนสุขภาวะ ซึ่งตำบลเจ็ดเสมียนมีนโยบายส่งเสริมสุขภาวะอยู่แล้ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรง การที่ได้เข้าร่วมโครงการกับสสส. ทำให้เกิดกิจกรรมหลากหลายที่เป็นประโยชน์ต่อคนทุกวัย เช่น กีฬาฟุตบอล  ปั่นจักรยาน เปตอง ตะกร้อ แอโรบิค และยังมีการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ รวมถึงการรณรงค์เรื่องปัจจัยเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เช่น ลดการสูบบุหรี่ หรือจัดสถานที่สูบไม่รบกวนผู้อื่นในกรณีที่จำเป็น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายให้กับคนในชุมชน และนับเป็นเรื่องที่ดีที่มีการลงนามความร่วมมือประกาศขับเคลื่อนตำบลเจ็ดเสมียนมุ่งสู่ตำบลสุขภาวะต้นแบบ หลังจากนี้จะมีการรณรงค์อย่างเข้มข้นมากขึ้นภายใต้ข้อตกลงร่วม เพื่อสุขภาวะที่ดีของชาวตำบลเจ็ดเสมียน     

ด้าน พระครูสีลวิสุทธิคุณ  คุณสีโล เจ้าอาวาสวัดเจ็ดเสมียน กล่าวว่า การที่ สสส.เข้ามาช่วยทำลานเอนกประสงค์ริมน้ำ ตลาดเก่า 119 ปี เป็นพื้นที่สุขภาวะต้นแบบของตำบลเจ็ดเสมียน เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะและรณรงค์เรื่องบุหรี่และยาเสพติดถือเป็นเรื่องดี ทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี หากญาติโยมหรือหน่วยงานใดประสงค์จะใช้ศาลาริมน้ำก็สามารถเข้ามาใช้ได้ ทางวัดยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นงานส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะ งานประเพณี งานแต่งหรืองานบวช เพื่อประโยชน์ของคนในชุมชนทุกคน                                                                                                 

“การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและจับต้องได้คือ จำนวนของผู้ก่อการดี รวมถึงการมีส่วนร่วมและความหลากหลายของกิจกรรม การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนสะท้อนออกมาจากจำนวนและความหลากหลายของกิจกรรมที่คิดและออกแบบโดยคนในชุมชน กิจกรรมเหล่านี้สอดรับกับความต้องการของคนทุกเพศทุกวัย ส่วนด้านของจำนวนผู้ก่อการดี ในทุกการพัฒนา การสร้างการเปลี่ยนแปลงตอนจุดเริ่มต้นก็มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งมีไม่มากนัก  จากนั้นกลุ่มผู้ก่อการดีก็เริ่มขยายตัวขึ้น ซึ่งท่านเหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะอย่างต่อเนื่องตอไป ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวชี้วัดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตำบลเจ็ดเสมียนแหงนี้” ดร.อุดม กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวการสร้างสังคมสุขภาวะกับ Imagine Thailand Movement
ได้ทาง Facebook Page : Imagine Thailand Movement และ Website https://www.imaginethailandmovement.com

ข่าวประชาสัมพันธ์

“ไทยกูลิโกะ” เปิดตัว “กูลิโกะ อัลมอนด์ โคกะ มิกซ์ 3 นัท”

เอาใจผู้บริโภคชาวไทยด้วยผลิตภัณฑ์นม กูลิโกะ อัลมอนด์ โคกะ ที่ขายดีอันดับ 1 ในญี่ปุ่นมุ่งขยายตลาดเครื่องดื่ม Plant-Based เมืองไทย 15 ตุลาคม 2...

โวยวายดอทคอม