เดินหน้านโยบาย Quick Win สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ
วันที่ 25 ตุลาคม 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการดำเนินงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” โดยมี นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ คณะผู้บริหาร และพนักงานให้การต้อนรับ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ซึ่งถือเป็นโครงการ Quick Win ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีการนำร่องด้วยรถไฟฟ้า 2 สาย คือ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 2 เส้นทาง ได้แก่ สายธานีรัถยา ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรังสิต และสายนครวิถี ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีตลิ่งชัน รวมระยะทาง 41 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 13 สถานี กับ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) รวมระยะทาง 23 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 16 สถานี และเร็วๆนี้ มีแผนต่อยอดนโยบายดังกล่าว ซึ่งผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงของ รฟม. สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงของ รฟฟท. ได้ที่สถานีบางซ่อน โดยใช้บัตร EMV Contactless ใบเดียวกันในการชำระค่าโดยสาร และเปลี่ยนถ่ายระบบภายในระยะเวลา 30 นาที โดยชำระค่าโดยสารทั้งสองสายรวมกันสูงสุดเพียง 20 บาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการหลังจากธนาคารกรุงไทยพัฒนาเชื่อมต่อระบบ EMV Contactless แล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มในช่วง เดือนพฤศจิกายนนี้
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยเล็งเห็นว่า ระบบขนส่งทางรางในปัจจุบัน มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศเป็นอย่างมาก โดยได้รับมอบหมายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานด้านระบบรางทั้งหมด เพื่อเร่งผลักดันนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน”เพิ่มศักยภาพระบบขนส่งทางราง ของประเทศ ส่งเสริมในการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้กับการดำเนินภารกิจของหน่วยงานอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เป็นองค์กรที่มีความทันสมัย สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชน รวมถึงเป็นฟันเฟืองหลักในการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ให้สามารถแข่งขันกับอาณาอารยประเทศได้ตามยุทธศาสตร์ ของกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นให้ระบบขนส่งทางราง มีความทันสมัย และคล่องตัว อีกทั้งยังได้เน้นย้ำให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ให้บริการประชาชนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงมีความซื่อตรง โปร่งใส ตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล มีการส่งเสริมให้บุคลากรนำหลักคุณธรรม และจริยธรรมมาใช้ในการดำเนินงาน และได้มอบหมายให้ รฟฟท. คำนึงถึงความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากบุคลากรในองค์กรนั้น มีความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด พร้อมขานรับนโยบาย Quick Win โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่
ด้านที่ 1 ด้านการให้บริการประชาชน
โดยดำเนินงานตามหลักการ “Smile Service and Safety for Railway” คือ การให้บริการด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยรอยยิ้ม สร้างความสุขให้แก่ผู้ใช้บริการ เอาใจใส่ผู้ใช้บริการทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รวมถึงมีการพัฒนามาตรฐานงานบริการ ควบคู่กับความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสากล เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการ ของประชาชนได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ซึ่งโครงการดังกล่าว จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านงานบริการให้แก่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด อีกทั้งจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้ผู้โดยสารเกิดความประทับใจ และเลือกมาใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเพิ่มมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษา และออกแบบจัดทำโครงการเชื่อมต่อการเดินทางเพื่อเพิ่มการเข้าถึง (Feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้อย่างสะดวก โดยมีการดำเนินโครงการที่สำคัญ ดังนี้
1. โครงการเชื่อมต่อการเดินทางเพื่อเพิ่มการเข้าถึง (Feeder) รองรับผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถไฟทางไกลจากจังหวัดนครปฐมสู่ใจกลางเมือง ด้วย Feeder ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ณ สถานีชุมทางตลิ่งชัน มายังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสามารถเดินทางต่อในเส้นทางสายธานีรัถยา ไปถึงสถานีรังสิตได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว
2. จัดทำแผนการดำเนินงานสนับสนุนการเดินทางด้วยระบบการขนส่งรอง ด้วยระบบ Feeder เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยจัดแผนการรองรับ 6 เส้นทาง ดังนี้
1. สถานีตลิ่งชัน – ถนนบรมราชชนนี
2. สถานีตลิ่งชัน – บางหว้า
3. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลาดนัดจตุจักร
4. สถานีหลักสี่ – ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
5. สถานีหลักหก – มหาวิทยาลัยรังสิต
6. สถานีรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
ทั้งนี้ รฟฟท. ยังคงเดินหน้าพัฒนาการเดินทางระบบการขนส่งรอง ด้วยระบบ Feeder อย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 13 สถานี ได้อย่างสะดวก และปลอดภัย
ด้านที่ 2 ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม
รฟฟท. มีแผนการติดตั้งระบบตรวจวัดอัจฉริยะแบบฝังตัวในขบวนรถไฟฟ้าเพื่อการบำรุงรักษาแบบแม่นยำสำหรับทางวิ่งและระบบไฟฟ้า (Embedded Smart Monitoring and Diagnostic System in On-Service Train for Predictive Maintenance of Redline Track and OCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีความทันสมัย ซึ่งร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยมีการฝังอุปกรณ์ตรวจวัดไว้ภายในขบวนรถไฟฟ้าที่ให้บริการ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลด้านการสั่นสะเทือนของตัวรถ และนำมาเป็นข้อมูลสำหรับวางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมั่นได้ว่า รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง มีระบบการควบคุมการเดินรถที่มีความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ พันธกิจและค่านิยมขององค์กร ที่มุ่งเน้นเรื่องการเดินรถไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยในระดับสูงสุด
อีกทั้ง รฟฟท. ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาโครงการ “Station Accessibility Development” เป็นการวางแนวทางการรองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และการรองรับสังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้น ตลอดจนกลุ่มผู้พิการที่ควรให้การดูแลเป็นพิเศษ และมุ่งแก้ไขในการรับมือกับปัญหาที่ส่งผลเสียต่อผู้โดยสารจากการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง การศึกษาในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล จากแบบโครงสร้างของสถานี และจำนวนผู้โดยสาร ที่เข้าใช้บริการจากภาพเคลื่อนไหวของกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การดูแลผู้พิการตลอดการเดินทาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเดินทาง พร้อมเสนอข้อแนะนำในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นให้มีศักยภาพดียิ่งขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ รฟฟท. ยังมีแผนดำเนินโครงการลดผลกระทบในด้านเสียง และการสั่นสะเทือนที่แหล่งกำเนิดที่มีต่อประชาชน ด้วยนวัตกรรม Green Damper จากยางพารา เนื่องจากเส้นทางการให้บริการรถไฟฟ้าถูกออกแบบให้วิ่งผ่านเขตเมือง หรือชุมชน ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางเสียงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า โดยในปัจจุบัน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการพัฒนา Green Damper ที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบร่วมกับวัตถุดิบในประเทศ 100 % ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองติดตั้งจริง โดยคาดการณ์ว่านวัตกรรมดังกล่าว จะช่วยลดความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้ทันที อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าการเกษตรในประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากการมอบนโยบายดังกล่าวแล้ว บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด จะรายงานความก้าวหน้าของแผนการดำเนินงานด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง และบริษัทฯจะมุ่งมั่น พัฒนาองค์กรสู่การเป็นผู้นำในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าด้วยมาตรฐานระดับสากล มุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ รักษามาตรฐานการปฏิบัติงานในด้านการเดินรถ และซ่อมบำรุง พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพอยู่เสมอ รวมถึงรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจขององค์กร อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงทุกการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตชานเมืองได้อย่างยั่งยืน
รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ยกระดับคุณภาพชีวิตชานเมือง Call Center 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง