วันนี้ (18 ก.ย.66) นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ และติดตามการดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ณ เขื่อนทดน้ำผาจุก อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี และเขื่อนสิริกิติ์ รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบัน น้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 16 และในพื้นที่ภาคเหนือน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 25 สำหรับสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี (ความจุเก็บกัก 73.7 ล้านลูกบาศก์เมตร) มีปริมาณน้ำเก็บกัก 24.16 ล้าน ลบ.ม. (32.78%) คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การ 19.13 ล้าน ลบ.ม. (27.86%) และเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในลุ่มน้ำน่าน (ความจุเก็บกัก 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร) มีปริมาณน้ำเก็บกัก 4,890 ล้าน ลบ.ม. (51%) คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การ 2,040 ล้าน ลบ.ม. (31%) ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่า ปี 65 จำนวน 894 ล้าน ลบ.ม. จากการตรวจสอบพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร จำนวน 4 ตำบล ได้แก่ ต.วังแดง อ.ตรอน และ ต.ท่าสัก ต.ท่ามะเฟือง ต.นาอิน อ.พิชัย และพบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจากปริมาณน้ำฝนน้อย48 ตำบล 9 อำเภอ ได้แก่ ต.บ้านแก่ง ต.น้ำอ่าง อ.ตรอน ต.ผักขวง ต.ป่าคาย ต.น้ำพี้ อ.ทองแสนขัน ต.ท่าปลา ต.หาดล้า ต.ผาเลือด ต.จริม ต.น้ำหมัน ต.นางพญา ต.ร่วมจิต อ.ท่าปลา ต.แสนตอ ต.บ้านฝาย ต.เด่นเหล็ก ต.น้ำไคร้ ต.น้ำไผ่ ต.ห้วยมุ่น ต.ท่าแฝก อ.น้ำปาด ต.บ้านโคก ต.นาขุม อ.บ้านโคก ต.ในเมือง ต.ท่าสัก ต.นายาง อ.พิชัย ต.ฟากท่า ต.สองคอน ต.บ้านเสี้ยว ต.สองห้อง อ.ฟากท่า ต.ท่าเสา ต.บ้านเกาะ ต.ป่าเซ่า ต.คุ้งตะเภา ต.หาดกรวด ต.น้ำริด ต.งิ้วงาม ต.บ้านด่านนาขาม ต.บ้านด่าน ต.ผาจุก ต.วังดิน ต.แสนตอ ต.หาดงิ้ว ต.ขุนฝาง ต.ถ้ำฉลอง อ.เมืองอุตรดิตถ์ และ ต.แม่พูล ต.นานกกก ต.ฝายหลวง ต.ชัยจุมพล ต.ด่านแม่คำมัน อ.ลับแล ทั้งนี้ รองเลขาธิการฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 และ 3 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเคร่งครัด และกำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนการรับมือ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดทำผังน้ำก่อให้เกิดประโยชน์ทำให้ทราบถึงเส้นทางน้ำ รูปตัดลำน้ำ ติดตามการระบายน้ำและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ผังน้ำยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสินใจในการสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ไม่ให้อยู่ในพื้นที่น้ำหลากหรือกีดขวางทางระบายน้ำ รวมถึงเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบทางน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ โดยผังน้ำจะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้ทางน้ำโดยเฉพาะ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ขณะนี้การจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำน่าน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และได้นำไปรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 และ 7 กันยายน 2566 พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียในเขตผังน้ำมีสิทธิเสนอข้อสอบถาม ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นต่อผังน้ำและรายการประกอบผังดังกล่าว โดยให้ทำเป็นหนังสือ หรือผ่านช่องทางออนไลน์ก็ได้ (www.onwr.go.th)”