รมช.ศึกษาธิการ กล่าวนมัสการ พระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี มจร พระสงฆ์สมณศักดิ์ทุกรูปด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง และได้เห็นถึงความตั้งใจของท่าน เลขาธิการ กพฐ. ที่เป็นผู้นำในฐานะที่เป็นข้าราชการกำกับดูแลงานโดยตรงของ สพฐ. ซึ่งท่าน เลขาธิการ กพฐ. ได้สะท้อนความคิดที่เป็นเด็กอยู่ชนบท ทั้งยังยกตัวอย่างเรื่องที่เป็นความจำเป็น และเป็นความสำคัญยิ่งต่อประเทศของเรา เริ่มตั้งแต่ความเข้มแข็งในครอบครัวและในหลักของบวรที่จะทำให้สังคมนั้นได้เริ่มความแข็งแกร่งและมั่นคงตั้งแต่รากหญ้าโดยมีกลไกของการศึกษาเป็นความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ของประเทศก็ดี ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโกก็ดี ทั้งนี้ทุกๆรางวัลที่นักเรียนทุกคนได้รับ จะเป็นสิ่งที่ต้องทำให้พวกเราทุกคน ได้รักษามาตรฐานและจะทำให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งครูและนักเรียนทุกคนต้องช่วยกัน โดยต้องมีหลักแห่งความรับผิดชอบ และมีหัวใจที่จะปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
ครูโอ๊ะกล่าวตอนหนึ่งว่า.......“หากเราสามารถดำรงชีวิตด้วยหลักไตรสิกขา มีศีล สมาธิปัญญา เมื่อมีศีลแล้วก็จะไม่ทำความเดือดร้อนให้กับครอบครัว ไม่ทำความเดือดร้อนให้กับสังคม ไม่ทำความเดือดร้อนให้กับประเทศชาติ และเมื่อมีศีลก็จะมีสมาธิ ซึ่งสมาธิ จะทำให้เราดำเนินชีวิตด้วยความรอบคอบ สามารถทำงานหรือประกอบภารกิจ โดยเฉพาะนักเรียนสามารถจะเรียนได้ดีและสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นในการเป็นชีวิตมนุษย์ คือหลักของการใช้ปัญญาในการพินิจ พิเคราะห์ พิจารณา ที่จะแยกแยะและทำในสิ่งที่ดีงาม โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษา ครู เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกท่านจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมให้กับลูกๆของท่านเองในครอบครัว ให้กับลูกๆนักเรียนที่ครูเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สอง วันนี้ถือเป็นวันมงคลที่ทุกคนได้รับพรอันประเสริฐ ได้รับสิ่งที่เป็นภูมิรู้ที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และเป็นบุญของชาว ศธ.ที่ได้ มจร เป็นสถาบันการศึกษาทางสงฆ์ ที่เข้ามาหยิบยื่นช่วยเหลือสังคม"
ครูโอ๊ะได้มีโอกาสเข้ามาเป็นนักศึกษาที่ มจร ทั้งยังได้รับโอกาสและความเมตตาในการสัมภาษณ์ ท่าน อธิการบดี มจร ที่กรุณาเป็นคีย์แมนสำคัญที่ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ทำให้ได้ค้นพบและพิสูจน์ด้วยตัวเองว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนามากมาย แต่ไตรสิกขา คือ หลักของการดำเนินชีวิตที่จะก่อเกิดประโยชน์สูงสุด และในการทำวิจัยก็ได้เลือกหลักธรรม อิทธิบาทธรรม อิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งจะเป็นหลักธรรมสู่ความสำเร็จ และมีหลักของไตรสิกขา ซึ่ง มจร คือมหาวิทยาลัยที่ทรงเกียรติ ที่บูรณาการสหวิทยาการกับหลักพุทธธรรมอันจะเป็นแนวทางที่ทำให้คนไทยและคนทั่วโลก สามารถดำเนินชีวิตไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
พระศรีธรรมภาณี ,ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร กล่าวถวายรายงานตอนหนึ่งใจความว่า มจร โดยสํานักงานพระสอนศีลธรรม และ สํานักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ร่วมกันดําเนินการคัดเลือก และประเมินโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ เพื่อยกย่องประกาศเป็นโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนํารุ่นที่ 12 และโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน รุ่นที่ 4 โดยมีโรงเรียนวิถีพุทธผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนํารุ่นที่ 12 จํานวน 243 โรง และเป็นโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทานรุ่นที่ 4 จํานวน 43 โรง นอกจากนี้ยังมีส่วนหนึ่งที่ มจร ร่วมกับ สพฐ. และสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดมหกรรมส่งเสริมศีลธรรมและประกวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านพระพุทธศาสนา ครั้งที่ 5 โดยมี กิจกรรมการประกวด 5 รายการ ประกอบด้วย
1.การสวดมนต์หมู่สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ทํานองสรภัญญะ ประเภททีม 10 คน 3 ระดับ คือ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อค้นหา Best Practice ทีมที่ดีที่สุดในแต่ละระดับ เข้ารับโล่รางวัลพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2.การกล่าวคําอาราธนาและคําถวายทานในพุทธศาสนพิธี ประเภททีม 10 คน 3 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อค้นหา Best Practice ในแต่ละระดับ เข้ารับโล่รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
3.การบรรยายธรรม ประเภททีม 3 คน 2 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อค้นหา Best Practice ในแต่ละระดับ เข้ารับโล่รางวัลพระราชทานจาก สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
4.การถกวาที (วาจาสุภาษิต) ประเภททีม 4 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อค้นหา Best Practice เข้ารับโล่รางวัลพระราชทาน จากสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติย ราชนารี
5.โครงงานคุณธรรมส่งเสริมอัตลักษณ์วิถีพุทธ ประเภททีม 5 คน 3 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อค้นหา Best Practice ในแต่ละระดับ เข้ารับโล่รางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
กิจกรรมทั้งหมดมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพระพุทธศาสนา ผ่านกิจกรรม ส่งเสริมอัตลักษณ์วิถีพุทธที่พระสอนศีลธรรม นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ครูพี่เลี้ยง ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันสรรค์สร้างผลงานจากความสามารถทางพระพุทธศาสนา โดยมีกระบวนการดําเนินการรอบคัดเลือกระดับจังหวัด ระดับภาคคณะสงฆ์ 18 ภาค และระดับประเทศ เพื่อค้นหาต้นแบบที่ดีที่สุดใน แต่ละกิจกรรม (The Best Practice) โดยที่ทุก ๆ กิจกรรมใช้กระบวนผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งระบบ โดยทราบผลการประกวด และประกาศเผยแพร่ให้สาธารณะจนทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว