พร้อมรับข้อเสนอภาคประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
วันนี้ (23 ก.ย. 64) เวลา 12.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ 3/2564 เปิดเผยว่า วันนี้ ที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องแนวทางการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยได้มอบให้อนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับการแต่งตั้งไปดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น และรายงานกลับมาภายใน 30 วัน โดยได้รับข้อเสนอจากการตีความทางกฎหมายจากสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ไปศึกษาในเรื่องดังกล่าวขอเวลาให้ภาคประชาชนได้นำเสนอข้อมูล วิเคราะห์ผลดีผลเสีย ผลกระทบ มาให้กับคณะอนุกรรมการฯ พิจารณา ซึ่งทางภาคประชาชนได้แจ้งว่า จะนำมาเสนอภายในวันที่ 30 กันยายนนี้
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนอยากจะสื่อสารให้กับประชาชนทราบคือ อย่ากังวลใจว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลกระทบต่อท่าน การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังคงเหมือนเดิมจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องใช้ทุกส่วน หมายถึงทั้งในส่วนของรัฐบาลและรัฐสภาด้วย ฉะนั้นใครที่เคยได้รับสิทธิยังได้รับตลอดอย่างต่อเนื่อง ขออย่าได้กังวลกับข่าวที่ออกมา เพราะทราบความจริงเพียงบางส่วนไม่ทราบครบทุกส่วน รัฐบาลชุดนี้รับฟังความเห็นของภาคประชาชนเสมอ
แต่บ้านเมืองอยู่ด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ เราต้องฟังเสียงข้างน้อย แต่ก็ต้องเคารพสิทธิเสียงข้างมากด้วยเช่นกัน
นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ประชุมวันนี้ เรามีความเห็นเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่หลากหลายมาก เรามีคณะอนุกรรมการ 30 กว่าท่าน และมีนักวิชาการในแต่ละเรื่องมาร่วมแสดงความเห็นด้วย ตนเชื่อว่าความเห็นของทุกคนมีความปราถนาดีต่อประเทศ และเน้นย้ำเสมอว่า จะทำอะไรก็ตามต้องยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ในส่วนข้อเสนอที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอเข้ามาในที่ประชุม เป็นแนวทางที่ตีความทางกฎหมาย ทั้งนี้ อยากให้เข้าใจว่า ปัจจุบัน ระบบสวัสดิการ ปี 2564 ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับนั้น มากกว่าระบบสวัสดิการของปีที่ผ่านๆ มาอย่างมาก เราต้องนำเข้ามาพิจารณาด้วย โดยในวันนี้ เราจะนำเอาความเห็นใหม่ในที่ประชุมมารวมกับความเห็นของภาคประชาชนเข้าไปประกอบกัน
ทางภาคประชาชนจะมายื่นข้อเสนออีกรอบ พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบ และตนจะเอาเอกสารเหล่านั้น
ส่งไปให้กับอนุกรรมการฯ ทุกคนไปศึกษา ซึ่งกรอบเวลาศึกษาคือเร็วที่สุด และต้องทำด้วยความรอบคอบ