กรมควบคุมโรค และ กทม. ร่วมด้วยพันธมิตร ชวนคนไทยเป็น “เดงกี่ ฮีโร่” รณรงค์ลดป่วย ลดการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ปีนี้คาดอาจพบผู้ป่วยพุ่งสูงและเสียชีวิตมากกว่า 200 ราย
วันนี้ (14 มิถุนายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “ยอดผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศไทยอาจพุ่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 5 มิ.ย. 67 พบผู้ป่วยจำนวน 30,353 ราย ผู้เสียชีวิต 36 ราย และคาดการณ์ว่าอาจเสียชีวิตมากกว่า 200 รายในปีนี้ ซึ่งเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี สำหรับแนวทางการป้องกัน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้กำหนดมาตรการ 4 เน้น 4 เดือน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกระหว่างเดือน มิ.ย.- ก.ย. 2567 ได้แก่ 1) ด้านการเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ โดยการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายน้อยกว่า 5 2) ด้านการตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมโรคไข้เลือดออกตามแนวทางมาตรฐาน 3) ด้านการวินิจฉัยและรักษา ให้สถานบริการในพื้นที่ตรวจผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออกทุกรายด้วยชุดตรวจเร็วสำหรับไข้เลือดออก (NS1) และ4) ด้านการสื่อสารความเสี่ยง เน้นประชาสัมพันธ์ให้ร้านขายยาและสถานบริการทางการแพทย์งดจ่ายยา NSAID ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การร่วมมือกันในทุกภาคส่วน จึงขอเชิญชวนประชาชนให้มีสุขภาพดีไปด้วยกันด้วยการร่วมเป็นฮีโร่ในการป้องกันไข้เลือดออก ช่วยกันบอกต่อแนวทางการป้องกันไข้เลือดออกให้กับคนใกล้ตัว เพื่อเป็นการกระจายความรู้ออกไปเป็นวงกว้าง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากสภาพภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานครที่หลากหลาย เอื้อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก กทม. จึงดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และศาสนสถาน โดยการเฝ้าระวังการเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย การสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ชุมชน การปรับภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อม จัดทำ Big Cleaning Day ลงพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง และย้ำเตือนแก่ประชาชนและอาสาสมัครสาธารณสุขทั้ง 50 เขต ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอยในการที่ช่วยกระจายความรู้ ร่วมกับการย้ำเตือนถึงวิธีลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายด้วยมาตรการ 5ป. 1ข. 3 เก็บ ได้แก่ 5ป. ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติ เพื่อปราบยุงลาย 1ข. ขัดทำความสะอาดภาชนะบรรจุน้ำ และ 3 เก็บ เก็บขยะ เก็บบ้าน เก็บน้ำ พร้อมทั้งใช้แอปพลิเคชัน Line ในการสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบถึงภัยของไข้เลือดออกและแนวทางในการป้องกันตนเองที่สามารถเข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็ว นอกจากการป้องกันแบบบูรณาการแล้ว อัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกจะลดลงได้ตามเป้า หากเราทุกคนมาร่วมกันเป็น เดงกี่ ฮีโร่ นำพาชุมชนไปสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกด้วยกัน
นายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คาโอดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย และได้ตระหนักถึงภัยร้ายของโรคไข้เลือดออก โดยได้ดำเนินโครงการ “GUARD OUR FUTURE” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อปกป้องให้ผู้คนให้ห่างไกลและปลอดภัยจากยุง ซึ่งในส่วนแรกของโครงการเรามุ่งเน้นในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันศึกษา โดยในปีนี้คาโอได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาฟีเจอร์ “Mosquito Bite Crowdsourcing” ในแอปพลิเคชัน “รู้ทัน” หรือแอปแจ้งเตือนภัยสุขภาพที่อยู่รอบตัว ซึ่งดำเนินการโดย เนคเทค สวทช. และกรมควบคุมโรค เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนเข้ามาร่วมช่วยกันรายงานสถานการณ์ของยุงตรงพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ จากการทำงาน หรือทำกิจกรรมใดๆ ได้จากทั่วประเทศ โดยข้อมูลการรายงานนี้ จะนำมาช่วยเสริมการตรวจจับการระบาดในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกต่อไป อีกทั้งคาโอยังให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดระดับประเทศ ได้ทำการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงให้ทางกรมควบคุมโรคอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการแพร่ระบาดจากโรคไข้เลือดออกในวงกว้าง และในส่วนที่ 2 ของโครงการ คาโอมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อปกป้องผู้คนให้ห่างไกลจากยุง ซึ่งล่าสุดในปีนี้คาโอได้เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ที่โดดเด่นด้านความปลอดภัย สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงได้และไม่รบกวนกิจวัตรประจำวันอีกด้วย
นายปีเตอร์ สไตรเบิล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทาเคดามุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งของกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกผ่านความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในหลากหลายมิติ เพื่อช่วยลดภาระทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม โดยเน้นการสื่อสารที่ให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร คุณครูและนักเรียนในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ อีกทั้งได้มีการยกระดับการรายงานข้อมูลไข้เลือดออกของประเทศให้มีความรวดเร็วและถูกต้อง จัดทำแผนแม่แบบระบบ และกระบวนการการดำเนินการประสานความร่วมมือของพันธมิตร การเปิดตัว ‘อิงมา’ Dengue Virtual Human หรือมนุษย์ที่สร้างขึ้นแบบเสมือนจริงเพื่อเป็นตัวแทนของผู้ป่วยไข้เลือดออกในไทยจำนวน 1,237,467 คนในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้ของโรคไข้เลือดออกตามสื่อต่างๆ สำหรับปีนี้แคมเปญ “ยิ่งไม่รู้ ยิ่งต้องป้องกัน” ภายใต้ความร่วมมือ Dengue-zero นำโดย กรมควบคุมโรค และ กรุงเทพมหานครจะยกระดับการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความอันตรายของโรคโดย วิน เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร ศิลปินดาวรุ่งระดับอินเตอร์อาสาเป็นหนึ่งใน “เดงกี่ ฮีโร่” เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันไข้เลือดออกและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องตนเองและคนใกล้ตัวให้ห่างไกลจากไข้เลือดออก และจะเดินหน้าประสาน ทุกความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการระบาด การเจ็บป่วย และการสูญเสียให้เป็นศูนย์ในไทยให้ได้
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 14 มิถุนายน 2567