วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565

รฟฟท.ตอกย้ำภาพการเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าด้วยมาตรฐานระดับสากล

ด้วยผลสำรวจความพึงพอใจ และจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ปีที่ 12 ด้วยมาตรฐานการดำเนินงานในระดับสากลทุกมิติ  ยกระดับการให้บริการผู้โดยสารอย่างมีประสิทธิภาพ


นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยว่านับตั้งแต่เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีต่อเนื่องมาถึงการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์มาเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน นั้น สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมาโดยตลอดก็คือการนำมาตรฐานระดับสากลที่บริษัทได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ขอบเขต : วิศวกรรมและซ่อมบำรุงและงานปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้า จาก BV ( Bureau Veritas ) มาใช้ในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า เพื่อให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายสูงสุด และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้โดยสาร ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าบริษัทประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากสถิติความตรงต่อเวลา และยอดผู้โดยสารที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ รวมทั้งผลสำรวจความพึงพอใจผู้โดยสาร

โดยสถิติความตรงต่อเวลา และความน่าเชื่อถือของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงตั้งแต่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อยู่ที่ 99.96% และ 99.70% ส่วนจำนวนผู้โดยสารก็เพิ่มสูงขึ้นหลังเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ช่วงแรกอยู่ที่ประมาณ 8,000 – 9000 คนต่อวันเป็นสูงสุดกว่า 13,000 คนต่อวันในปัจจุบัน และผลสำรวจวามพึงพอใจผู้โดยสารที่จากคะแนนเต็ม 5 ปรากฎว่าอยู่ในเกณฑ์ดีทุกด้าน ด้านการให้บริการโดยรวม 4.40 , ด้านความปลอดภัย 4.39 , ด้านคุณภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีและในขบวนรถ 4.39 , ด้านการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูล 4.26 , ด้านเหรียญโดยสาร/บัตรโดยสาร และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด 4.25 และด้านความน่าเชื่อถือต่อความตรงต่อเวลา ความถี่ และคุณภาพในการเดินรถไฟฟ้า 4.23

ด้วยความสำเร็จดังกล่าว ทำให้บริษัทมีความมั่นใจในการก้าวสู่ปีที่ 12 ของการดำเนินงาน อีกทั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา บริษัทได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ในขอบเขตการปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้า ความปลอดภัย และวิศวกรรมซ่อมบำรุง จากหน่วยรับรอง Bureau Veritas (BV) ทำให้เชื่อว่าบริษัทพร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ปีที่ 12 ด้วยมาตรฐานการดำเนินงานในระดับสากลทุกมิติ และยกระดับการให้บริการผู้โดยสารอย่างมีประสิทธิภาพ

เริ่มด้วยการยกระดับองค์กรให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านระบบขนส่งทางรางที่สำคัญของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานภายนอกในการจัดฝึกอบรมความรู้ให้แก่นักศึกษา และผู้ที่สนใจในองค์ความรู้ด้านระบบขนส่งทางราง โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญของบริษัท ซึ่งบริษัทผ่านการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้เป็นองค์กรที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานวิชาชีพ สาขาวิชาชีพรถไฟความเร็วสูงและระบบราง ใน 5 สาขาวิชา จึงมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถถ่ายทอดองค์วามรู้ระบบรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบรางเพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” ซึ่งร่วมกับกรมการขนส่งทางราง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบรางทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง , มหาวิทยาลัยมหิดล , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ หรือ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านพื้นฐานการซ่อมบำรุงช่วงล่างรถไฟฟ้า และพื้นฐานระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม ส่วนในอนาคตบริษัทมีแผนเตรียมเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาชีพรถไฟความเร็วสูงและระบบรางกับ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันการศึกษาอื่นๆเพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านระบบราง อาทิ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

นอกจากนั้นบริษัทยังมีแผนงานในการยกระดับการให้บริการด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยมีโครงการ Smile Service ที่บริษัทดำเนินการมาตลอดหลายปี และยังคงมีแผนที่จะดำเนินการต่อไป เพื่อสร้างความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานด้านการให้บริการแก่ผู้โดยสาร รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงาน อันจะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่งานบริการ

นอกจากนี้ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่มอบหมายให้บริษัทดำเนินการใน 2 เรื่องสำคัญคือการจัดระบบเชื่อมต่อ ( Feeder ) ของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ และการหากิจกรรมหรือนิทรรศการมาจัดที่สถานีกลางบางซื่อนั้น บริษัทได้เตรียมแผนการดำเนินงานทั้ง ในส่วนการจัดระบบเชื่อมต่อ ( Feeder ) ของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ซึ่งที่เพิ่งเปิดให้บริการไปก็คือ ชัตเทิ้ลเทรน เชื่อมต่อนครปฐม-รังสิตด้วยรถไฟทางไกลและรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ส่วนลด 50% รถไฟทางไกลเส้นทางนครปฐม – ธนบุรี ตามระยะทาง และตามประเภทผู้โดยสารจากปกติราคา 20 – 40 บาท โดยขบวนรถดังกล่าวจะหยุดจอดทุกสถานี รวมถึงสถานีตลิ่งชัน ซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเพื่อเชื่อมต่อไปยังเส้นทาง ตลิ่งชัน – บางซื่อ – รังสิต ได้ในราคา 12 - 42 บาท นอกจากนั้นบริษัทเตรียมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มจุดจอดเส้นทางรถชัตเทิ้ลบัส “ศาลายาลิงค์” ที่ปกติวิ่งในเส้นทาง ศาลายา – บางหว้า เป็นศาลายา – ตลิ่งชัน – บางหว้า โดยเพิ่มจุดจอดที่รถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีตลิ่งชัน ทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการชำระเงินด้วยการใช้บัตร บัตร EMV Contactless ซึ่งคาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565

ส่วนการหากิจกรรมหรือนิทรรศการต่างๆมาจัดในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เหมือนเช่นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาตินั้น ในอนาคตบริษัทได้เตรียมดำเนินการพูดคุยกับหน่วยงานเอกชนที่สนใจจำนวนมากเพื่อหากิจกรรมหรือนิทรรศการต่างๆมาจัดในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ อาทิเช่น งาน Cat T-Shirt เป็นต้น

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าด้วยแผนงานดังกล่าวและมาตรฐานระดับสากลที่บริษัทนำมาใช้ขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติจะส่งผลให้บริษัทสามารถก้าวสู่ปีที่ 12 และยกระดับการให้บริการแก่ผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนบริการลูกค้า 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง รถไฟฟ้าสายสีแดง ยกระดับคุณภาพชีวิตชานเมือง

ข่าวประชาสัมพันธ์

พยัคฆ์ มอเตอร์ ปลื้ม EV BIKE กระแสตอบรับดี ตั้งเป้าเสิร์ฟมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเข้าถึงทุกกลุ่มผู้ใช้งาน

นายภาณุ ศีติสาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท พยัคฆ์ เพาเวอร์ คอร์ป และบริษัท พยัคฆ์ มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า จากสถิติของกรมการขนส่งทา...

โวยวายดอทคอม