นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทยฯ เปิดเผยว่า สายการพาณิชย์มีความมั่นใจว่าการบินไทยจะเดินหน้าต่อไปและประสบความสำเร็จโดยกำหนดกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์ ดังนี้
กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์และบริการ โดยมุ่งเน้นในเรื่องเส้นทางบินที่สามารถทำกำไร และมีศักยภาพในการขาย โดยกำหนดการใช้เครื่องบินที่เหมาะสม ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด นอกจากนี้ ยังวางกลยุทธ์เครือข่ายการบินที่มีประสิทธิภาพ และสะดวกในการเดินทางแก่ผู้โดยสาร โดยการร่วมมือกับกลุ่มสายการบินพันธมิตรเพื่อส่งต่อผู้โดยสารในเส้นทางระหว่างประเทศ และร่วมมือสายการบินไทยสมายล์ในการส่งต่อผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางในประเทศ พร้อมกับพัฒนาปรับปรุงการให้บริการผู้โดยสารในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด
กลยุทธ์ด้านการกำหนดราคา และช่องทางการจัดจำหน่ายโดยเน้นการขายออนไลน์ ควบคู่กับการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสาร และกำหนดราคาขายให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก อีกทั้งยังสามารถกำหนดราคา ที่แข่งขันได้
การสื่อสารการตลาดเน้นช่องทางออนไลน์ โดยมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้แนะนำบริการใหม่ โดยมุ่งเน้นประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก อาทิ สิทธิประโยชน์เพิ่มของสมาชิกบัตร Royal Orchid Plus โดยเน้นรูปแบบ Lifestyle สามารถสะสมและแลกไมล์ได้หลายช่องทางมากขึ้น, บริการเลือกอาหารล่วงหน้าในชั้นธุรกิจ (Pre-Selected Meal), Digital Menu, การปรับปรุงอาหารชั้นประหยัดให้ดีขึ้น, การให้บริการเต็มรูปแบบ (Full services), Call Center ตลอด 24 ชั่วโมง ฯลฯ ในอนาคต รูปแบบการบริการและการขายจะเปลี่ยนไป โดยเน้นระบบดิจิทัลมากขึ้น
การบินไทยร่วมขับเคลื่อนการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยปรับเพิ่มเส้นทางบินที่ให้บริการในไตรมาสที่ 1/2565 จะมีเส้นทางบินในทวีปเอเชีย 19 จุดบิน ทวีปยุโรป 9 จุดบิน ทวีปออสเตรเลีย 1 จุดบิน และภายในประเทศโดยสายการบินไทยสมายล์ 14 จุดบิน และสายการบินไทยสมายล์มีแผนการบินเส้นทางระหว่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง เวียงจันทน์ ย่างกุ้ง เสียมราฐ พนมเปญ ฯลฯ
นอกจากนี้ ด้านความพร้อมในการกลับมาให้บริการ บริษัทฯ มีการซ่อมบำรุงเครื่องบินตามมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินอยู่ตลอดเวลา และสามารถซ่อมบำรุงเครื่องบินได้ทุกประเภทที่ทำการบินมายังประเทศไทย ซึ่งฝ่ายช่าง การบินไทย ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระดับโลก อาทิ องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA), องค์การบริหารการบินแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (FAA) และสำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือน (CASA) ของออสเตรเลีย
สำหรับด้านการปฏิบัติการบิน บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสูงสุด ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานระดับสากล อาทิ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.), สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA), องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO), องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) ทั้งนี้ นักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและการให้บริการอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้ความมั่นใจในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร
การบินไทยพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในฐานะสายการบินแห่งชาติ พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เปิดประตูเชื่อมไทยสู่โลก และเชื่อมไทยเป็นหนึ่ง