ชาวเขา ณ ศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่
วันนี้ (14 ต.ค. 64) เวลา 10.30 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ณ ศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมดอยเชียงดาว ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง เพื่อพบปะเยี่ยมตัวแทนราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ และมอบผ้าห่มกันหนาว อีกทั้งเยี่ยมชม "บ้านพระจันทร์ยิ้ม" เรือนทรงงานรัชกาลที่ 9 และวีดีทัศน์ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ 15 เขต นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการกลุ่มอาชีพ ผลิตภัณฑ์ชุมชนของราษฎรบนพื้นที่สูง ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. นายอำเภอแม่แตง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ และทีม One Home พม. จังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ลงพื้นที่บูรณาการร่วมกัน
นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ ตนนำทีมผู้บริหารมาลงพื้นที่แห่งนี้ เพื่อมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำการเกษตร แต่ยังขาดการสนับสนุนในด้านกระบวนการผลิตและการจัดจำหน่าย ซึ่งตนได้หารือร่วมกับอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการว่า ควรจะต้องมีกองอีกหนึ่งกอง เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการหลวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 ทรงพระราชทานไว้เป็นมรดกให้คนไทยไว้ ทั้งนี้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีความก้าวหน้าในการสร้างรายได้ สร้างโอกาสให้กับกลุ่มชาติพันธ์ ถ้าเรานำภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะว่าวันนี้ โลกไปไกลมาก ทุกอย่างต้องมีเรื่องราวที่จะบอกคุณประโยชน์ คุณสมบัติที่สำคัญของสินค้า ขณะเดียวกันการเคหะแห่งชาติมีบริษัทที่จะสามารถสร้างอาชีพและสินค้าจากเกษตรกร โดยเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดในการกระจายสินค้าให้สามารถเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้นอีกด้วย
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมดอยเชียงดาว อยู่ในพื้นที่เขตศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. ได้สืบสานการดำเนินงานตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาดอยเชียงดาว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูงให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น โดยมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพแก่ราษฎรบนพื้นที่สูงทั้งภาคเกษตร นอกภาคเกษตร และการแปรรูปในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวงและพื้นที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และส่งสริมการรวมกลุ่มประกอบอาชีพแก่กลุ่มสตรี
โดยการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย อาทิ การตัดเย็บผ้าขนเผ่าลาหู่ การยกระดับการแปรรูปผ้าทอลาหู่ การทำสบู่และการทำหมอนจากใบชา และการทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น